วันวิปโยค 9/11 วันที่เปลี่ยนโลกการบินไปตลอดกาล
เล่าเรื่อง วันวิปโยค 9/11 วันที่เปลี่ยนโลกการบินไปตลอดกาล ผ่านประสบการณ์ของหัวหน้าลูกเรือคนไทย
9/11 ซึ่งหมายถึงวันที่ 11 เดือนกันยายน ในปีค.ศ.2001 ตัวเลขนี้มีความหมายกับคนอเมริกันและคนทั่วโลกอย่างยิ่ง เพราะหลังจากเหตุการณ์นี้ โลกการบินก็เปลี่ยนไปตลอดกาล สิทธิเสรีภาพและความสะดวกสบายของนักเดินทางได้แปรเปลี่ยนไปด้วยมาตรการที่เข้มงวด ด้วยความหวังที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการก่อวินาศกรรมในลักษณะนี้ขึ้นอีก
ครูจ๊ะหวังว่าเรื่องราวนี้จะช่วยกระตุ้นเตือนลูกเรือและผู้สนใจอาชีพนี้ให้ระลึกถึงความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่บนเครื่องบิน
11 September 2001
เริ่มต้นวันทำงานที่แสนวุ่นวาย
ในวันที่ 11 กันยายน ปี ค.ศ.2001 ครูจ๊ะ ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ Chief Purser ของเที่ยวบิน JALWAYS 050 จากสนามบิน New Chitose ไปยัง Honolulu รัฐ Hawaii ของสหรัฐอเมริกาด้วยเครื่องบินแบบ DC-10
แต่ปรากฎว่ามีพายุไต้ฝุ่นเข้าโตเกียวตั้งแต่ก่อนเที่ยง ทำให้ลูกเรือญี่ปุ่นสองคนไม่สามารถเดินทางจาก Tokyo มาสมทบกับลูกเรือไทยที่รออยู่ที่ Sapporo ได้ตามกำหนด บริษัทคอยติดต่อรายงานข่าวตลอดตั้งแต่เช้า
เมื่อใกล้ถึงเวลาออกเดินทางครูจ๊ะจึงให้ลูกเรือไทยช่วยกันเตรียมเที่ยวบินไปก่อน และในที่สุดอีกสองคน ก็สามารถมาถึงขึ้นเครื่องได้ทันเวลา เที่ยวบินของเราจึงสามารถออกเดินทางได้ตามกำหนดในเวลา 19:10 ตามเวลาท้องถิ่นโดยมี กัปตัน Bertaux ชาวอเมริกันเป็นผู้ควบคุมเครื่อง พร้อมด้วย ผู้ช่วยนักบิน วิศวกรประจำเครื่อง ลูกเรือ 10 คน และ ผู้โดยสาร 123 คน
เมื่อสามารถออกเดินทางได้ตามตารางบินพนักงานทุกคนก็โล่งใจเพราะการรักษาเวลาคือเป้าหมายของสายการบินนี้ ตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่า พวกเราจะต้องเจอกับเหตุการณ์อะไร เรารู้แค่ว่าตอนนั้นเรากำลังเดินทางข้ามเส้นแบ่งเวลา International Date Line บนมหาสมุทรแปซิฟิก จากเวลาพลบค่ำของซีกโลกตะวันออก ย้อนกลับไปยังเวลาย่ำรุ่งของซีกโลกตะวันตก ที่ๆแผ่นดินอเมริกานั้น พึ่งเริ่มต้นวันใหม่ ของวันที่ 11 กันยายน นั่นเอง
Point of No Return
เที่ยวบิน(ไม่)ปกติ ที่ไม่อาจหวนกลับได้
เหนือมหาสมุทรแปซิฟิค ลูกเรือทุกคนต่างก็เริ่มอ่อนเพลียโดยเฉพาะลูกเรือชาวญี่ปุ่นที่ติดค้างที่สนามบินฮาเนดะอยู่หลายชั่วโมงตั้งแต่เช้า แต่ทุกคนก็ยังคงยิ้มแย้มให้บริการผู้โดยสารอย่างดี ตามสไตล์สายการบินญี่ปุ่น ทุกอย่างดูเหมือนว่าจะเป็นไปตามไฟลท์แพลนปกติ… มีข้อผิดสังเกตุอย่างเดียวคือ นักบินทั้งสามคนของเราที่เคยอารมณ์ดี ก็ดูเงียบไปตั้งแต่ช่วงกลางของเที่ยวบิน และไม่มีใครทานอาหารเลย
ครูจ๊ะ มาทราบจากกัปตันภายหลัง ว่าช่วงเวลาที่ทางศูนย์ควบคุมการบินเจแปนแอร์ไลน์แจ้งเหตุวินาศกรรมเข้ามาที่ห้องนักบินนั้น เที่ยวบินของเราได้ผ่าน Point of No Return (จุดที่มีน้ำมันไม่พอที่จะบินกลับสนามบินเดิม) เหนือมหาสมุทรแปซิฟิค มาแล้ว
ทางเลือกเดียวของเราคือต้องบินต่อไปจนถึงฮาวาย สรุปว่าจาก 12 เที่ยวบินของเจแปนแอร์ไลน์ ที่มุ่งสู่ฮาวายในวันนั้น มีเพียงสองลำเท่านั้นที่ต้องบินไปต่อ เที่ยวบินอื่นนั้นทางสายการบินสั่งให้บินกลับญี่ปุ่นหมดตามคำสั่งฉุกเฉินของรัฐบาลสหรัฐ
“Chief Purser, please come to cockpit”
ข้อความที่ทำให้ หัวหน้าลูกเรือทุกคนอดหวั่นใจไม่ได้
เมื่อเหลืออีกครึ่งชั่วโมงก่อนจะถึง Honolulu ตามกำหนด ครูกำลังเดินดูแลผู้โดยสารและความเรียบร้อยของเคบิน ก็มีลูกเรือมาตามแจ้งว่า กัปตันต้องการให้ไปพบที่ห้องนักบิน แม้ในใจตอนนั้นจะคิดแล้วว่าคงจะเป็นเรื่องที่ไม่ดีแน่ แต่ก็นึกไม่ถึงว่าจะรุนแรงขนาดนั้น
ครูยังจำสีหน้าของกัปตันและนักบินได้ดี กัปตัน Bertaux คุณลุงใจดีของพวกเรามีสีหน้าเศร้าหมอง จนน่าใจหาย
ประโยคแรกที่แกกล่าวเมื่อเห็นครูคือ Ja, America is under attack. อเมริกากำลังถูกโจมตี เครื่องบินถูกจี้ใช้เป็นอาวุธทำลาย เราเสียตึกWorld Tradeไปทั้งสองตึก Pentagon ก็โดนและยังมีเครื่องตกที่ Pennsylvania อีก รัฐบาลสหรัฐมีคำสั่งห้ามเครื่องบินลงจอดในประเทศเขา
แต่ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมเครื่องบินของเราได้รับอนุญาตให้ลงจอดเพื่อเติมน้ำมันในสนามบิน Kona เกาะ Hawaii Big Island ตามที่รัฐบาลกำหนด แต่อาจจะต้องบินกลับญี่ปุ่นทันทีหลังเติมน้ำมันเสร็จ ขณะนั้นทุกอย่างดูสับสนไม่แน่นอนแต่อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดเราค่อยไปแก้ปัญหากันข้างหน้า
“They came to shoot us down if we don’t keep our track”
บนเครื่องบินของเรามี 136 ชีวิต กำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย
จากกระจกหน้าต่างห้องนักบินจะมองเห็นเครื่องบินรบไอพ่นของกองทัพอากาศสหรัฐสองลำบินประกบอยู่ข้างเครื่องบินของเรา วิศวกรประจำเครื่องที่เคยรับราชการในกองทัพสหรัฐมาก่อน ฟันธงว่า เครื่องบินรบมาเพื่อจะยิงเราหากเราไม่บินตามเส้นทางที่ถูกกำหนดให้ เพราะแกพยายามติดต่อกับนักบินกองทัพอากาศทั้งสองลำแต่ไม่ได้รับการตอบรับ (ในปฏิบัติการทำลาย นักบินจะไม่คุยกับเป้าหมายเพราะจะทำให้เกิดความสงสารไม่กล้ายิง)
เพื่อไม่ให้ทุกคนบนเครื่องเกิดความตื่นตระหนกตกใจที่มากเกินควบคุม เราจึงแบ่งหน้าที่กันคือ นักบินดูแลการบิน ส่วน ครูจ๊ะ ก็ดูแลผู้โดยสารและลูกเรือ เราตกลงกันว่าจะแจ้งลูกเรือตามข้อมูลทุกอย่างที่ได้รับมาจากบริษัท แต่จะแจ้งผู้โดยสารเพียงแค่ว่าสนามบิน Honolulu ปิด… ซึ่งก็ปิดจริงๆเพราะที่จอดเต็มเนื่องจากไม่มีเครื่องบินได้รับอนุญาตขึ้นจากสนามบินได้… ตอนนั้นเรามีข้อมูลน้อยมากและสถานการณ์ยังไม่นิ่งเลย
“Teamwork and Trust”
ร่วมแรงร่วมใจผ่านวิกฤตการณ์
สายการบิน Jalways ในขณะนั้นมีลูกเรือหญิงล้วนที่มีอายุงานเฉลี่ยแค่สองปีเศษและส่วนใหญ่ มีอายุยี่สิบกว่าปี แต่นั้นย่อมไม่เป็นปัญหาเมื่อเราศรัทธาในทีมของเรา ครูจ๊ะได้เรียกลูกเรือทั้งหมดมารวมตัวกันที่ครัวส่วนกลางและบอกเล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยกเว้นเรื่องเหตุผลที่มีเครื่องบินรบกำลังบินประกบเราอยู่
“ครูจ๊ะ จำเป็นต้องบอกว่าเขามาดูแลปกป้องเราเพื่อไม่ให้ลูกเรือตื่นตระหนก ต้องขอโทษลูกเรือทุกท่านมา ณ ที่นี่ค่ะ”
พร้อมขอให้ลูกเรือทุกคนมั่นใจในกัปตันของเรา ครูเองก็จะดูแลจัดการให้พวกเราทุกคนกลับถึงบ้านโดยปลอดภัย ขอให้รักษาสีหน้าและปฏิบัติหน้าที่ตามปกติเพื่อไม่ให้ผู้โดยสารตื่นตระหนก ซึ่งลูกเรือทุกคนทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม ทั้งที่ทุกคนเองก็กังวลและเหนื่อยล้าเช่นกัน
National Emergency
เตรียมพร้อมรับสถานการณ์สุดขั้ว
ที่สำคัญที่สุด คือแผนการรักษาความปลอดภัยต้องเปลี่ยนเป็นระดับสูงสุด เพราะวันนี้อเมริกากลายเป็นประเทศที่ไม่ปลอดภัยอย่างยิ่งไปเสียแล้ว มันมาถึงจุดที่ ทุกคนต้องเปิดหนังสือคู่มือลูกเรือออกมาแล้วช่วยกันดูที่ละขั้นตอน เพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาดหรือข้ามขั้นตอนโดยเด็ดขาด… แม้จะมีระเบียบเกี่ยวกับสุขภาพความพร้อมของนักบินและลูกเรือ แต่กรณีนี้กัปตันแจ้งว่า นี่คือ National Emergency ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ
สิ่งที่เราทำได้คือการวางแผนล่วงหน้า… ตามปกติสนามบิน Kona จะไม่มีบริการโหลดอาหารเครื่องดื่มให้ และในสถานการณ์เช่นนี้คงจะยากขึ้นอีก… โชคดีที่ เจแปนแอร์ไลน์ มีบริการบะหมี่สำเร็จรูปกระป๋องเล็กๆ ทั้ง อุด้ง โซบะ และราเมง เดอ สกายไว้บริการจำนวนมาก แม้จะมีเครื่องดื่มเหลือไม่เยอะนัก แต่เรายังสามารถชงชาเขียวและต้มกาแฟได้ จึงประเมินแล้วว่าน่าจะพอเพียงกับ 136 ชีวิต ถ้าต้องระหกระเหินกลับญี่ปุ่นกัน
Pass the baton
ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวเสมือนการส่งต่อไม้วิ่งผลัด
สำหรับกลุ่มเจแปนแอร์ไลน์ทุกแผนกทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวเสมือนการส่งต่อไม้วิ่งผลัด ที่เส้นชัยคือความปลอดภัยและสะดวกสบายของผู้โดยสาร
เมื่อเครื่องบินของเรามาถึงสนามบิน Kona เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินก็รออยู่แล้ว เพื่อขึ้นมาประกาศถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น “Ladies and Gentlemen, We are regret to inform you that we are in emergency situation ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ เรามีความเสียใจที่ต้องแจ้งว่าขณะนี้เรากำลังอยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉิน เนื่องจากการก่อวินาศกรรมใน New York Washington และ Pennsylvania ขอให้ผู้โดยสารทุกท่านให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทางสายการบินจะดูแลอำนวยความสะดวกแก่ท่านให้ดีที่สุดขออย่าได้กังวล”
กลับกลายเป็นว่า ภาพที่น่าประทับใจที่สุดคือ ผู้โดยสารซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นทั้งหมดมีท่าทีที่สงบและให้ความร่วมมืออย่างพร้อมเพรียง
การก่อการร้ายแห่งศตวรรษ
เมื่อลูกเรือทุกคนได้ลงจากเครื่องเพื่อไปผ่านตรวจคนเข้าเมือง ภาพที่เราเห็นจากจอโทรทัศน์ที่ตั้งไว้แทบจะทุกมุมของสนามบินคือภาพการถล่มของตึก World Trade center และภาพตึก Pentagon กระทรวงกลาโหมสหรัฐที่ราบเป็นแถบ
ไม่ว่าครูจะเคยวาดภาพในหัวไว้อย่างไร ก็เทียบไม่ได้กับภาพที่เห็นตรงหน้า ผู้โดยสารอเมริกันหลายคนและเจ้าหน้าที่ที่เราเคยเห็นเขาเหล่านั้นทำงานด้วยความแข็งขันต่างร้องไห้ หลายๆคนก็มีอาการตกใจไม่เชื่อสายตาตนเอง หันไปเห็นลูกเรือของตัวเองบางคนก็เริ่มตาแดงๆแล้ว
สิ่งที่เราทำได้คือทำหน้าที่ของเราต่อไปให้ดีที่สุดให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถ้าใครเคยมีโอกาสมาเยือนหรือรู้จักคนอเมริกันจะทราบว่าคนเหล่านี้รักและภูมิใจในความเป็นอเมริกันมากแค่ไหน วันนี้ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์แห่งการก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในศตวรรษนี้
3คืน4วันใน Big Island
ตอนสายตามเวลาท้องถิ่นของวันนั้นเอง รัฐบาลกลางได้ตัดสินใจห้ามเครื่องบินทุกลำบินเหนือน่านฟ้าสหรัฐทำให้ทุกเที่ยวบินต้องจอดจนกว่าทางการจะมั่นใจว่าควบคุมทุกอย่างได้… แม้จะมีความวุ่นวาย เจ้าหน้าที่ของเจแปนแอร์ไลน์ก็ยังกรุณาจัดหาที่พักให้กับลูกเรือที่ติดค้างที่ Kona ทุกคนได้เรียบร้อย
ทุกๆวันครูจ๊ะเองก็ต้องทบทวนแผนรักษาความปลอดภัยระดับสูงสุด พร้อมทั้งดูแลลูกเรือ และรอรับการติดต่อจากบริษัทแม่ ด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบที่ดำเนินติดต่อมาหลายวัน โดยที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ครูต้องยอมรับเลยว่ามันสร้างความกระวนกระวาย และความกดดันสูงมาก
ทุกๆ วัน เวลาตีสี่ ลูกเรือทุกคนต้องตื่นมาแต่งตัวรอ เผื่อว่าจะสามารถนำเครื่องออกได้ พอพ้นเที่ยงไป ถ้ายังไม่มีคำสั่งเข้ามาจึงจะสามารถออกไปทานข้าวข้างนอกได้… แต่ทุกๆ ที่ๆ เราไป จะเห็นสัญญลักษณ์ธงชาติติดไว้ รายการบันเทิงต่างๆ ทางทีวีถูกยกเลิก ความตื่นกลัวเริ่มกลายเป็นความสับสน และ ความโกรธแค้นในใจชาวอเมริกัน มากขึ้นเรื่อยๆ
พาผู้โดยสารกลับบ้าน
ในที่สุดรัฐบาลสหรัฐได้อนุญาตให้สายการบินกลับมาทำการบินได้อีกครั้งในวันที่ 14กันยายน… เราพบว่าไม่มีการนำภาชนะอาหารที่ใช้แล้ว ขยะและของเสียอื่นๆลง จึงทำให้เครื่องของเราคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นเหม็น ลูกเรือจึงต้องแก้ไขด้วยการฉีดน้ำยาดับกลิ่น
เราบินไป Honolulu เพื่อส่งผู้โดยสารและทำความสะอาดเครื่อง และรับผู้โดยสารชุดใหม่กลับ Sapporo ซึ่งชั่วโมงบินค่อนข้างนานจึงว่าถือเป็นการทำไฟลท์ที่ไม่ปกติอย่างมาก เพราะตามกฎแล้วลูกเรือจะไม่ทำสองแลนด์ดิ้งต่อเนื่องกันแบบนี้ แต่ลูกเรืออย่างเราที่แม้จะอิดโรยก็แข็งแกร่ง พร้อมเข้าใจและทำทุกอย่างเพื่อผู้โดยสารได้เสมอ
เนื่องจากเป็นวันแรกที่กลับมาทำการบินภายใต้กฎระเบียบรักษาความปลอดภัยใหม่ ประกอบกับผู้โดยจำนวนมากต้องการเดินทางกลับ สนามบิน Honolulu จึงคับคั่งและเกิดความล่าช้า แต่ทุกคนก็พร้อมใจให้ความร่วมมือและเต็มใจจะรอเพราะต่างก็เข้าใจถ่องแท้แล้วว่า การรักษาความปลอดภัยนั้นสำคัญที่สุด
ในที่สุดเที่ยวบินของเราก็ได้นำพาผู้โดยสารของเรากลับถึงญี่ปุ่นโดยสวัสดิภาพ ครูจ๊ะต้องขอขอบคุณนักบิน น้องจิ๋วและลูกเรือทุกคน พี่อ๋าย พี่กั๋น Mr Kobari และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกท่านที่พาเราทุกคนกลับบ้านโดยปลอดภัยค่ะ
สิ่งสำคัญที่ครูได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้คือการก่อการร้ายเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาลูกเรือจึงควรต้องมีความพร้อมทั้งกายและใจเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเช่นเดียวกับ การมีสติ ทำงานเป็นทีม ปฏิบัติตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยในทุกเที่ยวบินเองก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
เกิดอะไรขึ้นในวัน 9/11
มีผู้ประมวลเหตุการณ์ไว้ดังนี้
กลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์จำนวน19คน แบ่งออกเป็นสี่กลุ่ม ทำการจี้เครื่องบินโดยอาศัยมีดจับแอร์หรือผู้โดยสารเป็นตัวประกันเพื่อข่มขู่เข้าไปในห้องนักบินและเข้าควบคุมการบินนำเครื่องบินพุ่งชนเป้าหมายสำคัญในสหรัฐ
- กลุ่มแรกจี้เที่ยวบินอเมริกันแอร์ไลน์ AA11 พุ่งเข้าชนกับตึกเหนือของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์
- กลุ่มที่สองได้จี้เที่ยวบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ UA175 พุ่งเข้าชนตึกใต้
- กลุ่มที่สามจี้เที่ยวบินอเมริกันแอร์ไลน์ AA77 พุ่งเข้าชนตึกเพนตากอน กระทรวงกลาโหม
- กลุ่มสุดท้ายจี้เครื่องบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ UA93 ตกใกล้กับแชงค์วิลล์ รัฐเพนซิลเวเนีย หลังผู้โดยสารสู้กับคนร้าย เชื่อกันว่าเป้าหมายน่าจะเป็นอาคารรัฐสภาหรือทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน
Aftermath
เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 2,996 คนนับเป็นการก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติและได้เปลี่ยนโฉมหน้าการบินพาณิชย์ไปตลอดกาล
- โลกการบินที่เต็มไปด้วยเสรีภาพถูกจำกัดลง มาตรการและกฎระเบียบต่างๆถูกนำมาบังคับใช้ เช่น
- การตรวจสัมภาระและร่างกายที่เข้มงวด
- การเสริมความแข็งแรงให้กับประตูห้องนักบิน ไม่อนุญาตให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าห้องนักบินระหว่างทำการบิน
- กำหนดปริมาณของเหลวที่จะนำติดตัวขึ้นเครื่องเพื่อป้องกันระเบิดเคมี
- การตรวจเช็คประวัติผู้โดยสาร และยังทำให้ต้องเผื่อเวลาในการเดินทางมาสนามบินเพิ่มขึ้นอีกด้วย
แต่ถ้านักเดินทาง เจ้าหน้าที่การบินรวมถึงลูกเรือทุกคนยังรักในการเดินทางเราทุกคนคงจะพร้อมใจกันรักษากฎระเบียบ ช่วยกันสอดส่อง เพื่อรักษาความปลอดภัยไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายใดๆมาก่อเหตุได้อีก